aritc


ประวัติสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

        สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2547 ตามโครงสร้างการบริหารงานตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พ.ศ. 2548 โดยเกิดขึ้นจากการควบรวมของหน่วยงานสำคัญเดิมสองหน่วยงาน คือ สำนักวิทยบริการ และสำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ปัจจุบัน สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศแบ่งโครงสร้างส่วนงานภายในเป็น 3 หน่วยงานย่อย ดังนี้

ศูนย์วิทยบริการ
      ให้บริการหอสมุด การสืบค้น ยืม-คืน หนังสือ ตำรา สิ่งพิมพ์ และสื่อโสตทัศน์ ทรัพยากรสารสนเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
     ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์และการซ่อมบำรุง จัดการฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาระบบสารสนเทศและสนับสนุนการพัฒนาสื่อการเรียนออนไลน์

สำนักงานผู้อำนวยการ
     อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน



Timeline

พ.ศ. 2465

มีการก่อตั้ง “หอสมุด" ขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตั้งสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะนั้นมีสถานะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมลฑลนครสวรรค์

พ.ศ. 2497

มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีการจัดหอสมุดที่มีลักษณะเป็นเพียงห้องอ่านหนังสือและมีการเก็บรวบรวมหนังสือไว้ในตู้ปิดกุญแจ

พ.ศ. 2508

มีการจัดการงานหอสมุดให้ถูกต้องตามระบบสากล ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งวิชาการที่ช่วยในด้านการเรียนการสอนของอาจารย์ และนักศึกษา

พ.ศ. 2509

หอสมุดได้มีการนำระบบการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมของดิวอี้ (Dewey Decimal Classification) เข้ามาใช้

พ.ศ. 2512

ย้ายที่ทำการหอสมุดลงมาอยู่ชั้นล่างของอาคารเรียน 2 จากเดิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเรียน 1 เนื่องจากพื้นที่ใช้สอยแคบไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ในการจัดหาหนังสือเข้าหอสมุดด้วย

พ.ศ. 2515

ได้ดัดแปลงอาคารหอประชุมหลังที่ 2 (ปัจจุบันคือชั้นเด็กเล็กของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์) เป็นหอสมุดชั่วคราว

พ.ศ. 2517

อาคารหอสมุด 2 ชั้น (อาคาร 8) ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เป็นอาคารหอสมุดโดยเฉพาะ สร้างเสร็จในเดือนกันยายน และเปิดใช้บริการในเดือนธันวาคม

พ.ศ. 2538

หอสมุดได้รับงบประมาณจัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (Automation Library System) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บรายการหนังสือและดรรชนีวารสารจากบัตรรายการให้อยู่ในรูปของฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมีโปรแกรมจัดระบบเข้ามาจัดการ โดยคณะกรรมการวิชาการได้พิจารณาคัดเลือกโปรแกรม HORIZON ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทันสมัยในขณะนั้นเข้ามาใช้ จำนวน 8 User 2 module คือ Cataloging และ Circulation

พ.ศ. 2539

มีการจัดตั้ง "สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ" ขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2539 ตามแผนพัฒนาการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544

พ.ศ. 2540

สำนักคอมพิวเตอร์ฯ เริ่มเปิดให้บริการคอมพิวเตอร์ รวมถึงการจัดอบรมสัมมนา เปิดให้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

พ.ศ. 2541

สำนักคอมพิวเตอร์ฯ เริ่มดำเนินโครงการ Campus Network วางระบบเครือข่ายภายในทั้งมหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2542

อาคารหอสมุด 8 ชั้น ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน ควบคู่ไปกับอาคารหอสมุดเก่า (อาคาร 8) โดยมีทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง บริเวณชั้น 1 และชั้น 2 และได้เปลี่ยนชื่อจากหอสมุดเป็น "สำนักวิทยบริการ"

พ.ศ. 2544

- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานนามอาคารวิทยบริการ (หอสมุด) ของสถาบันราชภัฏ 34 แห่ง ทั่วประเทศว่า "อาคารบรรณราชนครินทร์"
- สำนักคอมพิวเตอร์ฯ ได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อการเรียนการสอนและการให้บริการ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยจัดทำโครงการติดตั้งอุปกรณ์ระบบควบคุมเครือข่ายเพื่อรองรับงานศูนย์ข้อมูลสารสนเทศของมหาวิทยาลัย (MIS Center) และโครงการการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

พ.ศ. 2547

จัดตั้ง "สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ" ขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน โดยควบรวมทั้งสำนักวิทยบริการ และสำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยมีสถานที่ตั้งประกอบไปด้วย:
1. อาคาร 4 ชั้น 1-2 เป็นที่ตั้งของสำนักงาน และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2. อาคารบรรณราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยบริการ
3. อาคารหอสมุดเก่า (อาคาร 8) เป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยบริการ

พ.ศ. 2548

ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคาร 15) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 และได้ย้ายสำนักงานและศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาให้บริการที่อาคารใหม่จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2557

มีการขยายพื้นที่การให้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์การศึกษาย่านมัทรี โดยเปิดให้บริการศูนย์วิทยบริการที่อาคาร 9 ชั้น 5 ห้อง 954 และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่อาคาร 9 ชั้น 4 ห้อง 944

พ.ศ. 2561

มีการย้ายพื้นที่การให้บริการของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนของศูนย์การศึกษาย่านมัทรีจากอาคาร 9 ชั้น 5 ไปยังอาคาร 11 ชั้น 2

เรียบเรียงเนื้อหาโดย นายชยันต์ นันทวงศ์ รักษาการณ์หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร